การจัดการระบบสาธารณสุขภายใต้การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19: กรณีศึกษา การจัดการขยะมูลฝอยติดเชื้อของกรุงเทพมหานคร
สภาวะวิกฤติการระบาดของ “โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19” ถือเป็นโรคติดต่ออุบัติใหม่ ทำให้ทั่วโลกและประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์ต้องรับมือกับโรคโควิด 19 ที่เริ่มระบาดในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 ทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ พบได้ในคนทุกอายุ ต่อมาเมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2563 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้โรคโควิด 19 เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ ต่อมาเมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2563 ประกาศการระบาดทั่วโลก
ขณะที่ในประเทศไทยพบมากขึ้น เริ่มในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 จากกลุ่มอาชีพเสี่ยงสูงที่สัมผัสกับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาด ภายหลังการระบาดของโรคได้ควบคุมให้อยู่ในวงจำกัด โดยการปิดประเทศ ระงับเที่ยวบิน การกักตัวเอง ฯลฯ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศ เป็นโรคติดต่ออันตราย
ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ 2558 เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2563
ด้านการจัดการระบบสาธารณสุขชุมชนภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19 กรณีการจัดการขยะมูลฝอยติดเชื้อของกรุงเทพมหานคร พบว่า ตัวเลขสะสมของผู้ติดเชื้อมากกว่าพื้นที่ต่างจังหวัด เนื่องจากเป็นศูนย์กลางการพัฒนาในด้านต่างๆ และมีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น ใน พ.ศ. 2563 มีปริมาณมูลฝอยติดเชื้อเฉลี่ย 39.88 ตันต่อวัน ลดลงจำนวน 2.65 ตันต่อวัน หรือคิดเป็นร้อยละ 6.2 และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันกับปี พ.ศ. 2562 ช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ตามที่รัฐบาลขอความร่วมมือให้ประชาชนอยู่บ้านและสั่งปิดสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงต่อการติดต่อของโรค สัดส่วนและปริมาณขยะพลาสติกที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ แบบใช้ครั้งเดียวทิ้งจากการสั่งสินค้าออนไลน์ หรือการสั่งอาหารเดลิเวอรีมีปริมาณเพิ่มขึ้น 15% คือจากวันละ 5,000 ตัน เป็น 6,300 ตันต่อวัน และมีปริมาณมูลฝอยติดเชื้อลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน พ.ศ. 2562 กรุงเทพมหานครได้จัดเก็บและกำจัดมูลฝอยติดเชื้อโควิด 19 ภายใต้แนวทางการจัดการมูลฝอยติดเชื้อในครัวเรือนและชุมชน ตามที่กรมอนามัยกำหนด โดยเก็บรวบรวมและนำมูลฝอยติดเชื้อจากผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อโควิด 19 และผู้กักตัว นำใส่ถุงแดงและซ้อนถุงขยะ 2 ชั้น ถุงใบแรกที่บรรจุมูลฝอยติดเชื้อแล้วให้ราดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ หรือน้ำยาฟอกขาว (เช่น ไฮเตอร์) จากนั้นมัดปากถุงให้แน่นแล้วฉีดพ่นด้วยสารฆ่าเชื้อ (สารโซเดียมไฮโปรคลอไรท์ 5,000 ppm หรือแอลกอฮอล์ 70 %) บริเวณปากถุงแล้วซ้อนด้วยถุงขยะอีก 1 ชั้น แล้วมัดปากถุงชั้นนอกให้แน่นและฉีดพ่นด้วยสารฆ่าเชื้ออีกครั้ง จากนั้นเคลื่อนย้ายไปพักยังที่พักที่จัดไว้เฉพาะ เพื่อรอประสานและจัดส่งศูนย์บริการสาธารณสุข และส่งให้ผู้ประกอบการเอกชนนำไปกำจัดด้วยวิธีเผาในเตาเผาขยะติดเชื้อที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุชและหนองแขม ส่วนขยะมูลฝอยจากสถานที่ทำงานหรือบ้านที่พบผู้ติดเชื้อโควิด 19 ทางสำนักงานเขต จะขนส่งไปกำจัดด้วยวิธีการเผาในเตาเผามูลฝอยติดเชื้อชุมชนที่ศูนย์กำจัดมูลฝอย และขยะจากศูนย์กักกันโรงแรมสำหรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 19 ผู้ประกอบการเอกชนจัดรถเฉพาะขนส่งขยะไปกำจัดด้วยวิธีการเผาในเตาเผาขยะติดเชื้อที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุชและหนองแขม นอกจากนี้ ผลการสำรวจและเก็บรวบรวมข้อมูลปริมาณมูลฝอยติดเชื้อจากแหล่งกำเนิดพบว่า ปริมาณมูลฝอยติดเชื้อโควิด 19 ได้รับการกำจัดถูกต้องมีศักยภาพ การจัดการในภาพรวมสามารถรองรับได้ มีจำนวน 47,465.02 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 98.96 โดยสามารถกำจัดได้วันละ จำนวน 135.48 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 9.6 ตัน/วัน เมื่อเปรียบเทียบจากฐานข้อมูลเดียวกันในปี พ.ศ. 2562 โดยปัจจุบันการกําจัดมูลฝอยติดเชื้อในประเทศไทยส่วนใหญ่จะใช้วิธีการกำจัดโดยการเผาในเตาเผา สำหรับวิธีการกำจัดโดยใช้วิธีทำลายเชื้อด้วยไอน้ำมีใช้ในบางพื้นที่ ส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลที่มีการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ ณ แหล่งกำเนิด (Onsite Treatment) ตามกฎกระทรวงว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ. 2545
แม้ว่าในสถานการณ์ปัจจุบันการจัดการมูลฝอยติดเชื้อโควิด 19 ภาพรวมยังสามารถรองรับได้ แต่จากการคาดการณ์ปริมาณมูลฝอยติดเชื้อโควิด 19 รวมถึงมูลฝอยติดเชื้อทั่วไปที่เกิดขึ้นจากทุกแหล่งกำเนิด มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากอัตราเดิมทุกปี ที่ผ่านมาในปี 2562 – 2564 (ข้อมูล ณ วันที่ 29 กรกฎาคม 2564) ปริมาณมูลฝอยติดเชื้อจากชุมชนมีแนวโน้มสูงขึ้นจาก Home Isolation, Community Isolation, Local Quarantine, Hospitelฯลฯ ส่งผลให้สถานพยาบาลเพิ่มภาระค่าเก็บขนและกำจัดเพิ่มขึ้น และมีมูลฝอยประเภทอื่นปนเข้ามาในระบบ ทำให้ปริมาณมูลฝอยติดเชื้อมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น ส่วนการขนส่งมูลฝอยติดเชื้อ พบว่า รถขนย้ายมูลฝอยติดเชื้อจากที่พักสู่เตาเผามูลฝอยติดเชื้อโดยไม่มีถังรองรับ ทำให้ถุงขยะแตก/รั่วระหว่างการขนย้าย อาจจะทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อสู่สิ่งแวดล้อมได้ ซึ่งการเก็บขนและกำจัดในบางพื้นที่ที่ระบบการเก็บขนมูลฝอยติดเชื้อไม่สามารถเข้าถึงได้ เช่น ในชุมชน และคอนโด ซึ่งที่ผ่านมาพบปัญหาและอุปสรรคในการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ นโยบายและทิศทางการบริหารจัดการมูลฝอยติดเชื้อในภาพรวมของประเทศและระดับพื้นที่ยังขาดรูปธรรมที่ชัดเจน กลไกการขับเคลื่อนการบริหารจัดการมูลฝอยติดเชื้อระดับพื้นที่ที่ไม่สามารถรองรับสถานการณ์ปัญหาการจัดการมูลฝอยติดเชื้อตามบริบทพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็ก รวมทั้งเทคโนโลยีและเครื่องมือในการควบคุมกำกับการขนมูลฝอยติดเชื้อยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะรองรับการจัดการมูลฝอยติดเชื้อในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้ และระบบฐานข้อมูลการจัดการมูลฝอยติดเชื้อยังไม่ครอบคลุมทุกแหล่งกำเนิด เนื่องจากยังไม่มีระบบการติดตามและเชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานที่ควบคุมกำกับแหล่งกำเนิดมูลฝอยติดเชื้อ นอกจากนี้การสื่อสารสาธารณะแก่ประชาชนในประเด็นการจัดการมูลฝอยติดเชื้ออย่างถูกต้องและเหมาะสมยังไม่เพียงพอ ต้องใช้มาตรการร่วมกันหลายด้าน
กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย ได้มีข้อเสนอแนะต่อการจัดการมูลฝอยติดเชื้อโควิด 19 ของประเทศ
ได้แก่
(1) กำหนดนโยบายและทิศทางการบริหารจัดการมูลฝอยติดเชื้อ เชื่อมโยงกลไกการบริหารจัดการระดับพื้นที่
(2) พัฒนาเทคโนโลยีทางเลือกในการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ และควบคุมกำกับการขนมูลฝอยติดเชื้อ
ให้มีประสิทธิภาพ พร้อมสร้างระบบฐานข้อมูลสารสนเทศการจัดการมูลฝอยติดเชื้อที่ครอบคลุมทั้งระบบ
(3) จัดระบบให้บริการเก็บ ขน และกำจัดมูลฝอยติดเชื้อในระดับพื้นที่
(4) เร่งผลักดันให้มีพระราชบัญญัติการบริหารจัดการขยะมูลฝอยแห่งชาติ เพื่อให้การบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
(5) สร้างความรอบรู้แก่ประชาชนเรื่องการจัดการมูลฝอยติดเชื้อที่ถูกต้อง
จัดทำบทความโดย นางสาวศาลิตา ทับพุ่ม นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ
กลุ่มงานติดตามประเมินสถานการณ์ กองติดตามประเมินผลสิ่งแวดล้อม
เอกสารอ้างอิง
กรมอนามัย. (2565). รายงานสถานการณ์ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ปี 2563. กรุงเทพมหานคร.
กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. (2563). โควิด 19 และระบาดวิทยา. [ออนไลน์] สืบค้นเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2563. จากเว็บไซต์: https://learningcovid.ku.ac.th/
บีบีซี นิวส์ ไทย. (2565). โควิด-19: สถานการณ์ขยะในกรุงเทพฯ เป็นอย่างไรในช่วงล็อกดาวน์. [ออนไลน์]
สืบค้นเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565. จากเว็บไซต์: https://www.bbc.com/thai/thailand-52817608
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (2564). รายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2563. กรุงเทพมหานคร.
บทความ
-
ขยะทะเล…แก้ได้ที่ตัวเรา
By Mr. John 3h ago -
“ป่าในเมือง” (Urban Forest)
By Mr. John 3h ago -
E-Waste ขยะใกล้ตัวที่รอการแก้ปัญหา
By Mr. John 3h ago -
การบริหารจัดการนำ้
By Mr. John 3h ago -
ขยะพลาสติก
By Mr. John 3h ago